วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การยุบพรรคทำลายประชาธิปไตยยิ่งกว่าการรัฐประหาร ......(ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)




1. การยุบพรรคไม่ใช่คดีความธรรมดา
แต่เป็นข้อพิพาททางการเมืองที่เต็มไปด้วยความเป็นการเมือง

ในกรณีประชาธิปัตย์ ฟังคำร้องของฝ่ายที่ต้องการให้ยุบพรรคแล้ว
ก็เห็นได้ชัดว่าเหตุผลมันอ่อนมาก
บางเรื่องก็เป็นเรื่องค่านิยมหรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ไม่น่าเอามาฟ้องกันได้ด้วยซ้ำ เช่นการใช้คำว่า “ระบอบทักษิณ”
ก็กลายเป็นเหตุให้ฟ้องกันได้ จนเหมือนกับเขียนอะไรมาก็ได้ ขอให้ได้ฟ้องเท่านั้น
ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้แสดงหลักฐานว่าพรรคในฐานะ องค์กร มีความผิดตรงไหน
รวมทั้งไม่ได้แสดงให้เห็นว่าพรรคในฐานะองค์กรมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร
ตุลาการก็ถือว่าพรรคในฐานะ องค์กร มีความผิด
ต่อไปก็ต้องลงโทษนายทหารหรือข้าราชการทุกคน
ที่อยู่ในหน่วยเดียวกับผู้บังคับบัญชาที่คดโกงงบประมาณของรัฐไปด้วย
เพราะอยู่ในองค์กรเดียวกัน จึงน่าสงสัยว่าจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

2. การยุบพรรคเป็นการกระทำทางการเมืองที่ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอลง
องค์กรทางกฎหมายที่มาจากการรัฐประหารกลับโจมตีพรรคการเมืองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ทั้งที่ฝ่ายหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของคนสิบกว่าล้าน
ส่วนอีกฝ่ายมาจากการแต่งตั้งของคนหยิบมือเดียว
มักคิดกันว่าการยุบไทยรักไทยจะทำให้ประชาธิปัตย์เข้มแข็งขึ้น
เหตุผลคือการปราศจากคู่แข่งขันที่เข้มแข็งจะทำให้ประชาธิปัตย์ไม่สนใจการปฏิรูปพรรคอีกต่อไป
การยุบพรรคมีส่วนอย่างมากในการทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอลง
เพราะเมื่อพรรคอันดับใหญ่สุดถูกทำลายลงไป
ขณะที่พรรคอันดับรองลงมาไม่ได้มีความเข้มแข็งมากนัก
การเลือกตั้งก็ย่อมปราศจากความหมาย
เป็นการเปิดประตูให้อำนาจเหนือระบบก้าวก่าย
และบงการอำนาจการเมืองในระบบได้มากกว่าที่ผ่านมา

3. เหตุผลในการยุบพรรคไทยรักไทยอีกข้อคือการทำลายประชาธิปไตย
ฝ่ายไทยรักไทยแย้งว่าตนเองไม่ได้ทำลายประชาธิปไตย
แต่เป็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญอย่างการปฏิวัติรัฐประหาร
และล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยกำลังทหารที่ทำลายประชาธิปไตยยิ่งกว่า
4. ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เพื่อชี้ขาดข้อขัดแย้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ที่สำคัญก็คือ เป้าหมายของศาลรัฐธรรมนูญได้แก่การรักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ป้องกันไม่ให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแอบอ้างหรือตีความรัฐธรรมนูญไปอย่างบิดเบี้ยว
หรือพูดอีกอย่างก็คือศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
พบว่าคำตัดสินยุบพรรคไม่ได้วางอยู่บนหลักกฎหมาย
หรือเจตนารมณ์ในการพิทักษ์หลักการของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด

หากกลับถูกผลักดันด้วยทรรศนะคติและค่านิยมความเชื่อทางการเมืองที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม
ปฏิเสธการพัฒนาการเมืองไปข้างหน้า และไม่เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยรัฐสภา
คำตัดสินนี้อัดแน่นไปด้วยความคิดทางการเมือง
ที่ถูกใช้เป็นอาวุธในการโจมตีการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา

คำตัดสินยุบพรรคคือการรัฐประหารซ้ำ
เพื่อตอกย้ำให้ผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายนทวีความมั่นคงขึ้น
เกิดความไม่พอใจและความวุ่นวายทางการเมืองที่จะตามมาในเวลาอันใกล้
สภาวะของความไร้เสถียรภาพ, ความหวาดกลัว, และความกังวล
อันเนื่องมาจากความไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรในอนาคต
จะดึงสังคมไทยไปสู่ทิศทางที่เลวร้ายกว่าที่ผ่านมา

ว่าด้วย มาตรา 1 “อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย” ...ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์




๑“นักวิชาการจำนวนไม่น้อยสนับสนุนว่า ถ้ามีการโกงการเลือกตั้งจะต้องมีการยุบพรรค
เหมือนมันเป็นยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งผิด
พรรคไทยรักไทยไม่ได้ตาย เพียงแต่อุบัติขึ้นใหม่ในนามพรรคพลังประชาชน
เขาจะยุบก็ต่อเมื่ออุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคนั้นไปทำลายระบอบประชาธิปไตย

๒ “เมื่อยุบพรรค ก็เท่ากับทำลายสิทธิทางการเมืองของคนอื่นอีกมากมาย
ที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย


๓ “กกต.กำลังใช้อำนาจตุลาการ และอำนาจตุลาการสงวนไว้ให้ใช้สำหรับผู้พิพากษาเท่านั้น
กกต.เป็นเพียงผู้รวบรวมพยานหลักฐาน
ถ้ามีอำนาจตัดสินด้วย คำตัดสินต้องไม่ถึงที่สุด
ต้องให้โอกาสคนมีโอกาสร้องศาลด้วย
ดังนั้น อำนาจของ กกต.จึงขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจชัดเจน”

๔“อ้างพระเจ้าในนามของพระเจ้าโดยศาสนจักร ทำให้กลับกลายเป็นคนที่กุมอำนาจ
ทำอะไรหลายอย่างที่ปัจจุบันก็ยอมรับว่ารับไม่ได้
คล้ายกันกับบ้านเรา
เรากำลังบอกว่าประชาชนของเราไม่รู้เรื่อง ต้องเลือกคนดี ต้องเชิดชูคุณธรรม จริยธรรม แต่คนมากุมอำนาจแล้วอ้างคุณธรรมจริยธรรมนั้น
ก็คล้ายกับศาสนจักรในยุคกลาง

๕ “(ใบเหลือง-ใบแดง) ในทางประชาธิปไตย คณะราษฎรเขียนเอาไว้
ในมาตรา 1 ของธรรมนูญปกครองประเทศสยามชั่วคราว พ.ศ.2475
ที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย
นี่คืออุดมการณ์ในการเปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย
วันนี้คุณค่าตรงนี้มันไม่มีเลย มันหายไปหมด หายไปในนามของ ‘คุณธรรม’
ที่เข้ามาทำลายแก่นตรงนี้”

๖ “วันนี้เราต้องทำการวิจัยภาคสนามกันจริงชัดๆ
ว่าเรื่องการซื้อเสียงนั้นเป็นอย่างที่เราคิดกันอยู่แต่เดิมไหม
อย่าเอาเรื่องการซื้อเสียงมาเป็นประเด็นหลัก
ที่ไปทำลายหลักอื่นทั้งหมดไปทำลายหลักอธิปไตยเป็นของปวงชนทั้งหมด
เพราะถ้าอย่างนั้นคุณก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง คุณต้องเลิกระบอบประชาธิปไตยไปเลย”
0 0 0
ว่าด้วย มาตรา 1 “อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย”
ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ทำอย่างไรจึงจะปลอดรัฐประหาร ...........โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย




ทำไมประเทศอินเดียและศรีลังกา
จึงไม่มีรัฐประหาร

ในอินเดียและศรีลังกา เขา “ขุน” ทหารไว้ “ตายเพื่อชาติ”
ทหารจะได้รับการดูแลอย่างดี มีความสุข
ไม่ต้องแสวงหาลาภยศทางอื่น สวัสดิการก็ดีมาก
ในอินเดีย มีร้านค้าสวัสดิการขายสินค้าราคาถูกแก่ทหารอีกต่างหาก
นอกจากกิจกรรมป้องกันประเทศแล้ว
ทหารทั้งในอินเดียและศรีลังกาแทบไม่เคยถูกเรียกใช้ในทางอื่น
ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เช่น ช่วยภัยพิบัติต่าง ๆ

ที่สำคัญทั้งอินเดียและศรีลังกา ไม่มีการเกณฑ์ทหาร
จึงไม่มี “ไอ้เณร” ไว้ให้ใช้ตรึงกำลังระหว่างทำรัฐประหาร
ทหารเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง
หรือที่เรียกว่า “ทหารอาชีพ” เหมือนข้าราชการอื่น ๆ
อาจกล่าวได้ว่า ในแวดวงใดหากมีการ “เกณฑ์”
หรือรับ “อาสาสมัคร” ก็จะเกิดเป็นกองทัพได้
ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการต่อรองทางการเมือง
ทหารในประเทศทั้งสองนี้ อยู่ภายใต้นักการเมือง

ผู้บังคับบัญชาสูงสุดก็คือประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี
หรือรัฐมนตรีกลาโหมซึ่งเป็นนักการเมืองนั่นเอง

หากฝ่าฝืนนโยบายของรัฐบาล
ทหารก็มีโอกาสถูกปลดหรือย้ายได้ง่าย ๆ เช่นข้าราชการทั่วไป
และยิ่งขืนออกมาก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

การที่นักการเมืองคุมกองทัพได้
ก็เพราะนักการเมืองหรือพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง
ได้รับการสนับสนุนหรือมีฐานเสียงจากประชาชนอย่างหนาแน่น
นักการเมืองกับประชาชนมีความผูกพันกันใกล้ชิด
ประชาชนมีปัญหาก็เข้าหาหรือใช้นักการเมือง

ในศรีลังกา ยังมีพรรคการเมืองของชาวพุทธ
มีพระเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐมนตรี
การที่พระ ชนกลุ่มน้อยหรือชาวบ้านพื้นถิ่นกลุ่มต่าง ๆ มีความเข้มแข็งทางการเมือง

ประชาธิปไตยได้รับการปลูกฝังกันมา ตั้งแต่ระดับนักเรียน ระดับหมู่บ้าน
ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง หนังสือพิมพ์มีความเป็นอิสระพอสมควร

จึงเห็นได้ว่า อินเดียและศรีลังกามีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งกว่าเรา

หมายเหตุ ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน
และนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
Email: sopon@thaiappraisal.org